พระครูวิมลปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม หมู่ 5 บ้านดงดิบ ต.ห้วยยาง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี หรือที่คนทั่วไปเรียกกันว่า “พระอาจารย์” ได้ก่อตั้งโรงเรียนศรีแสงธรรม ในปี 2553 เปิดสอนทั้งม.ต้น-ปลาย โรงเรียนแห่งนี้มีโจทย์มาจาก “ความขาดแคลน” ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของคนทั้งประเทศ
“ทุกวันนี้สิ่งที่เห็นคือ ความขัดสน ความยากจนข้นแค้นของคนในชุมชน และส่งผลกระทบไปถึงระดับชาติ เมื่อเด็กไม่รู้หนังสือ อ่านหนังสือไม่ออก จะอยู่อย่างไรในสังคม อนาคตของประเทศชาติจะเป็นอย่างไร หากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ อาตมามองจากจุดนี้จึงอยากให้พวกเขามีโอกาสทางการศึกษา ถ้าไม่มีการศึกษา เด็กๆ จะไม่มีแรงจูงใจอะไรในชีวิต ไม่มีเครื่องมือในการหาเลี้ยงตัวเอง” นี่คือแรงผลักสำคัญที่ทำให้พระอาจารย์มีพลังในการทำสิ่งๆต่าง โดยไม่ย่อท้อ
สาเหตุที่ตั้งโรงเรียน เพราะไม่อยากเห็นใครขาดแคลนการศึกษาเหมือนท่าน สมัยเด็กท่านเรียนไม่จบมัธยม ไม่มีโอกาสได้รับการศึกษา เพราะพ่อแม่ห ย่ า ร้ า ง กัน เลยต้องออกจากโรงเรียนมาทำงานเพราะเป็นพี่ชายคนโตของบ้านอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่เป็นแรงบันดาลใจให้พระอาจารย์ตัดสินใจสร้างโรงเรียน เนื่องจากต้องการสานต่อการช่วยชาติจากหลวงตามหาบัว พระอาจารย์ของท่านได้มีส่วนรวมรวบเงินบริจาคต่างๆ ซื้อทองคำ เข้าคลังหลวง พอหลวงตาปิดโครงการช่วยชาติ จึงคิดว่าการช่วยชาติที่ดีที่สุดคือการผลิตคนดีเข้าสู่สังคม เพราะเด็กเป็นอนาคตของชาติ
หลายปีที่ผ่านมา พระอาจารย์ได้มุ่งมั่นหาคำตอบเพื่อแก้โจทย์เรื่องความขาดแคลน โดยนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หลักธรรม และเทคโนโลยี มาผสมผสาน เพื่อเป็นต้นแบบในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดความสมดุลต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม เพื่อหวังว่าคำตอบจากการสร้างโรงเรียนแห่งนี้จะเป็นมีส่วนในการช่วยชาติ นั่นคือ การผลิตคนดีเข้าสู่สังคม
ทฤษฏี…สู่ปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียง
เริ่มจากห้องเรียนบ้านดิน เป้าหมายของหลักเศรษฐกิจพอเพียงคือ การที่เราสามารถพึ่งพาตนเอง มีความมั่นคงในชีวิต แต่การจะไปถึงจุดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกอย่างต้องเกิดจากการลงมือทำ และการมีจิตใจที่มั่นคง ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก ประโยคที่ว่า”อยากได้ต้องสร้างเอง กินทุกอย่างที่ปลูก ปลูกทุกอย่างที่กิน” ไม่ใช่คำพูดลอยๆอีกต่อไปแล้ว หากแต่เป็นการลงมือทำจริงๆที่โรงเรียนแห่งนี้จากจุดเริ่มต้นของโรงเรียนซึ่งมีปัจจัยเพียงน้อยนิดจากการบริจาค พระอาจารย์จึงตัดสินใจพาเด็กๆสร้างอาคารเรียนแบบบ้านดิน เพราะเป็นแนวทางที่ประหยัดที่สุดและสามารถทำได้ตัวเอง ทุกคนลงมือปั้นดินเป็นด้วยตัวเองนับพันนับหมื่นก้อนเพื่อสร้างอาคารเรียนบ้านดินด้วยตัวเอง ทำให้เด็กๆมีความภูมิใจมาก เพราะเป็นห้องเรียนที่ทุกคนสร้างมากับมือถือเป็นการเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่เกิดจากการปฏิบัติอย่างแท้จริง รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆด้วย ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุด บ้านพักครู อาคารพยายาม ถูกสร้างขึ้นมาจากเศษไม้ เศษเหล็กเก่าๆ เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าพระอาจารย์ขายบ้านตัวเองที่เป็นมรดกชิ้นสุดท้าย มาสมทบทุนสร้างอาคารเรียนมูลค่า 18 ล้านบาท โดยที่ไม่พึ่งพางบประมาณจากรัฐแม้แต่บาทเดียว และยังสอนเด็กๆ โดยไม่เก็บค่าเล่าเรียน มีรถรับ-ส่งฟรี อาหารฟรี ควบคู่กับการทำงานอย่างหนัก
ต้นกำเนิด “โซล่าเซลล์”เพราะไม่มีอุปกรณ์การเรียนการสอน
พระอาจารย์เล่าให้ฟังว่า ตอนนั้นเพิ่งย้ายเข้าอาคารเรียนใหม่ๆ เป็นวิชาวิทยาศาสตร์ แต่ในห้องไม่มีอุปกรณ์การสอนเลย มีแต่ “แดด” จึงคิดว่าน่าจะมีการใช้ประโยชน์จากแดด ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ไม่มีหมด
“ตอนนั้นมีเพียงแผ่นโซล่าเซลล์เก่าๆแตกๆ ที่พังแล้วมาซ่อม และทดลองใช้ในรูปแบบต่างๆ เช่น ที่ชาร์จมือถือ ทำโคมไฟ จากนั้นก็ขยายความรู้ไปเรื่อยๆ ด้วยการเข้าร่วมประกวดโครงการงานต่างๆได้รับรางวัลประเทศมากมาย ในที่สุดจึงเดินหน้าติดตั้งโซลาเซลล์ขนาด 6 กิโลวัตต์ เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ทำให้ค่าไฟลดลงอย่างมากจากเดือนละ 6,000 บาท เหลือเพียง 40 บาท”
ไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะทางโรงเรียนยังได้มีประยุกต์ใช้โซลาเซลล์กับเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เช่น ตู้น้ำดื่มพลังงานแสงอาทิตย์ เครื่องสูบน้ำพลังแสงอาทิตย์เข้าแปลงผักต่างๆ รวมถึงการประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่จากโซลาเซลล์ ไม่ว่าจะเป็นรถสามล้อพลังแสงอาทิตย์ ไฟฉายขอข้าว วิทยุไม่เอาถ่าน เพื่อจำหน่ายให้กับประชาชนที่สนใจ โดยรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายถูกนำมาใช้เป็นค่าอาหารกลางวันและค่ารถรับส่งของโรงเรียน
เมื่อไฟฟ้าในโรงเรียนมีความมั่นคงแล้ว พระอาจารย์ได้เดินหน้าคิดหาทางช่วยเหลือชุมชนโดยนำโซล่าเซลล์มาประยุกต์ใช้กับการเกษตร ซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนไทย เช่น โซลาเซลล์เคลื่อนที่ “รถเข็นผลิตไฟฟ้าชุดนอนนา” สามารถใช้กับเครื่องสูบน้ำ และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็นอย่างวิทยุ โทรทัศน์ได้ พัดลมเพื่อให้ชาวนาเข็นไปนอนเฝ้านาอย่างสะดวกสบายมากขึ้น เพราะไม่ต้องเสียค่าน้ำมันแพงๆ อีกต่อไป ใช้แดดร้อนๆในนาเป็นพลังงานได้เลย ทำให้เป็นที่ได้รับความนิยมและเป็นที่ชื่นชมเป็นอย่างมาก
ปลูกผัก-ทำนา แหล่งผลิตอาหารเกษตรอินทรีย์
การสร้างแหล่งผลิตอาหารแบบเกษตรอินทรีย์ ก็เป็นภารกิจสำคัญของนักเรียนที่นี่ เพื่อเป็นอาหารกลางวันของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการปลูกผัก เพาะเห็ด การปลูกข้าว โดยเฉพาะในเรื่องการปลูกข้าวที่ทางโรงเรียนใช้วิธีปลูกข้าวต้นเดียว เพื่อเพิ่มผลการผลิต ซึ่งเป็นวิธีการทำนาแบบใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมในระดับโลก โดยน้องๆโรงเรียนศรีแสงธรรม ต้องลงมือ ไถนา ดำนา เกี่ยวข้าว ด้วยตัวเอง สร้างความตื่นตะลึงกับให้ผู้ที่ได้เห็นเป็นอย่างมาก เมื่อเห็นเด็กสมัยนี้ทั้งหญิงชายสามารถขับรถไถนาได้
รวมถึงโปรเจ็กล่าสุดคือ การทำหลุมพอเพียง ถือเป็นเรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์อย่างแท้จริง เพราะมีทั้งการปลูกไม้ยืนต้น ไม้ระยะกลาง และ ผัก โดยเด็กๆต้องลงมือขุดหลุมขนาดใหญ่ 2×2ลึก 1 เมตร รวมทั้งต้องเรียนรู้การปรุงดินให้พืชด้วยเพราะดินในพื้นที่เป็นดินทรายทั้งหมดทั้งหมดนี้คือ ตัวอย่างเบื้องต้นที่โรงเรียนได้ประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการจัดการศึกษา โดยให้เด็กๆมีส่วนร่วม ได้ลงมือทำ ได้สร้างผลงานด้วยตัวเอง และสามารถนำความรู้ดังกล่าวกลับไปใช้เพื่อแบ่งเบาภาระพ่อแม่ และเลี้ยงตัวเองในอนาคตได้
พระอาจารย์ฯ ย้ำปิดท้ายว่า อยากให้ทุกพื้นที่มีโอกาสได้รู้จักโซล่าเซลล์ เพราะเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ง่ายมากง่ายกว่าการตากผ้า เพราะตั้งอยู่กลางแดด 5 นาทีก็มีไฟใช้ได้แล้ว อีกทั้งยังเป็นเทคโนโลยีที่ง่ายต่อการดัดแปลงไปใช้ในบริบทต่างๆของชุมชน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม ไม่ต้องมีความขัดแย้งกันอีกต่อไป ทุกคนสามารถผลิตพลังงานกันเองได้เลย หากโรงเรียนกลางป่าอย่างศรีแสงธรรมสามารถทำได้ทุกที่ในประเทศไทยก็สามารถทำได้เช่นกัน
ทั้งหมดนี้คือ เรื่องราวของโรงเรียนต้นแบบที่สร้างแสงสว่างทั้งทางปัญญา สร้างแสงสว่างให้กับชุมชน ทั้งยังสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศชาติด้วย
ขอบคุณแหล่งที่มาข่าว
https://bit.ly/2QWU1xV